“ตามรอยปราสาทหิน อารยธรรมขอม”
ใครชอบการท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีเชิญทางนี้จ้า วันนี้อเวนโกจะพาเพื่อนๆ ไปตามรอยปราสาทหิน ที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอมกันค่ะ ไปดูกันดีกว่าว่าร่องรอยอารยธรรมสมัยก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่มีที่ไหนบ้าง ตามอเวนโกมาเลย!!
1. ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ภาพจาก เพจ ปราสาทหินเมืองต่ำ
“ปราสาทหินเมืองต่ำ” ศาสนสถานในศาสนาฮินดู เป็นศิลปะขอมโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อถวายพระศิวะ
📍 องค์ประกอบภายในปราสาทเมืองต่ำ
- สระน้ำระเบียงคด เป็นสระน้ำ 4 สระ ที่ล้อมรอบระเบียงคด มีลักษณะเป็นรูปตัวแอล ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
- ภาพสลักดอกบัวแปดกลีบ ซึ่งอาจหมายถึงจุดกำหนดในการตั้งจิตอธิษฐานบูชาเทพเจ้า
- ระเบียงคดและซุ้มประตู
- ปราสาทแถวหน้าองค์ทิศเหนือ สลักภาพพระศิวะคู่กับพระอุมาประทับนั่งเหนือโคนนทิ
- ปราสาทแถวหลังองค์ทิศเหนือ สลักภาพพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ เพื่อปกป้องคนเลี้ยงวัวและฝูงวัวให้พ้นภัยจากพายุฝน
- ปราสาทแถวหลังองค์ทิศใต้ สลักภาพเทพเจ้าประทับนั่งเหนือหงส์
- ปรางค์ประธาน
- กลุ่มปราสาทอิฐ เป็นอาคารสำคัญที่สุด ใช้ประดิษฐานรูปเคารพและสถานที่ประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้า
- บรรณาลัย สถานที่เก็บคัมภีร์ ตำราทางศาสนา
- ปราสาทประกอบ
📸 พิกัด : บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
⏳ เวลา : 08.30 – 16.30 น.
💰 ค่าเข้าชม : ชาวต่างชาติ 40 บาท คนไทย 10 บาท
2. ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ภาพจาก เพจ ปราสาทหินพนมรุ้ง
“ปราสาทหินพนมรุ้ง” ศาสนสถานในศาสนาฮินดู ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ดังนั้นจึงมีปากปล่องภูเขาไฟที่เป็นสระน้ำธรรมชาติสำหรับปราสาทอีกด้วย
📍 องค์ประกอบภายในปราสาทพนมรุ้ง
- สะพานนาคราช ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร เชื่อว่าเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า
- ตัวปราสาทประธาน เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ซึ่งแทนองค์พระศิวะ แต่ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไปเหลือเพียงท่อโสมสูตรเท่านั้น
ไฮไลท์อีกอย่างของการมาเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้ง คือ การมาชมพระอาทิตย์ส่องแสงลอดประตู 15 บาน โดยใน 1 ปี สามารถชมได้ 4 ครั้ง คือ
- 3-5 เมษายน (พระอาทิตย์ขึ้น)
- 8-10 เมษายน (พระอาทิตย์ขึ้น)
- 6-8 มีนาคม (พระอาทิตย์ตก)
- 6-8 ตุลาคม (พระอาทิตย์ตก)
📸 พิกัด : ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
⏳ เวลา : 08.00 – 18.00 น.
💰 ค่าเข้าชม : ชาวต่างชาติ 100 บาท คนไทย 20 บาท
3. ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ

ภาพจาก เพจ วัดสระกำแพงใหญ่
“ปราสาทสระกำแพงใหญ่” เป็นปราสาท 3 หลังอยู่บนฐานเดียวกัน ด้านหน้ามีวิหาร หรือบรรณาลัย 2 หลังคู่ ส่วนด้านหลังมีปราสาทอีกหนึ่งหลัง หมู่ปราสาทล้อมรอบด้วยระเบียงคด ถัดออกไปเป็นสระน้ำรูปคล้ายตัวแอล และมีกำแพงล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น
📸 พิกัด : อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
⏳ เวลา : 06.00 – 18.00 น.
💰 ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
4. ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ภาพจาก เพจ ปราสาทหินพิมาย
“ปราสาทหินพิมาย” ศาสนสถานขอมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะศิลปะแบบเดียวกันกับนครวัด ในอดีตถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาและเป็นเมืองสำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
📍 องค์ประกอบภายในปราสาทหินพิมาย
- สะพานนาคราช
- ซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกของปราสาท
- พลับพลา เป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับชนชั้นสูง ที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
- ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตก สลักรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรก ที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม
- ซุ้มประตูและกำแพงชั้นในระเบียงคด
- ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว
- ปรางค์ประธาน
- ปรางค์พรหมทัต
- ปรางค์หินแดง
- หอพราหมณ์
- บรรณาลัย
📸 พิกัด : อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
⏳ เวลา : 07.30 – 18.00 น.
💰 ค่าเข้าชม : ชาวต่างชาติ 40 บาท คนไทย 10 บาท
5. ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี

ภาพจาก เพจ ปราสาทเมืองสิงห์
“ปราสาทเมืองสิงห์” ศาสนสถานศิลปะแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อด้วยศิลาแลง ประกอบด้วยปราสาทประธานหลังเดียว ล้อมรอบด้วยระเบียงคด และมีโคปุระทั้ง 4 ด้าน หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้มีอิทธิพลของศิลปะขอมแบบบายนก็คือ มีการพบรูปเคารพ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ที่มีรูปแบบเดียวกับที่พบในประเทศกัมพูชา
📸 พิกัด : ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
⏳ เวลา : 09.30 – 16.30 น.
💰 ค่าเข้าชม : ชาวต่างชาติ 40 บาท คนไทย 10 บาท